Warehouse Management Vs Inventory Management

Warehouse management และ Inventory management มีความแตกต่างกันอย่างไร บางคนอาจสงสัย เนื่องจากในการทำงานของทั้ง 2 เรื่องมีบางสิ่งที่คล้ายกันจนบางครั้งมีการนำใช้เป็นคำเรียกแทนกันในการทำงาน หรือมีการออกแบบระบบงานให้ครอบคลุมถึงกัน อย่างเช่น ระบบ Warehouse Management System (WMS) ที่มีอยู่ในท้องตลาดบางระบบก็มีฟังก์ชันการทำงานของ Inventory management รวมอยู่ด้วย

ความแตกต่างระหว่างการจัดการคลังสินค้า และการจัดการสินค้าคงคลัง

แท้จริงแล้ว 2 คำนี้มันคืออะไร มีความคล้ายกันหรือความแตกต่างกันอย่างไร

ความคล้ายกัน

ก่อนที่เราจะไปพูดถึงความแตกต่างกันระหว่างคำ 2 คำนี้ สิ่งแรกที่ควรจะทราบก็คือ ทั้งคู่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บสินค้า การดูแล การติดตามสินค้า ที่จะนำไปใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของกระบวนการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (อ่านบทความเรื่อง โลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ความหมาย ความสัมพันธ์ ข้อเท็จจริง Ep.1 ประกอบได้ https://mis.itd.kmutnb.ac.th/logistics-ep01/ )

ความแตกต่าง

Warehouse management (การจัดการคลังสินค้า) มุ่งเน้นไปที่กระบวนการจัดการสถานที่ในการจัดเก็บ ตำหน่งในการจัดเก็บสินค้า บริเวณที่ตั้งคลังสินค้า การควบคุม ตั้งแต่การนำสินค้าเข้า (Inbound) จนถึงการนำสินค้าออกจากคลังสินค้า (Outbound) ซึ่งการจัดการคลังสินค้ามีกิจกรรมหลัก ได้แก่

งานรับสินค้านำเข้าคลังสินค้า (Goods Receipt)
การตรวจพิสูจน์ทราบสินค้านำเข้าคลังสินค้า (Identify goods)
การตรวจแยกประเภท (Sorting goods)
งานจัดเก็บสินค้า (Put away)
งานดูแลรักษาสินค้าภายในคลังสินค้า (Holding goods)
งานจัดส่งสินค้า (Dispatch goods)
การนำสินค้าออกจากที่เก็บในคลังสินค้า (Picking)
การจัดส่งสินค้าออกจากคลัง (Shipping)
การส่งสินค้าผ่านคลังโดยไม่ต้องนำมาเก็บในคลังสินค้า (Cross docking)

Inventory management (การจัดการสินค้าคงคลัง) เป็นการจัดการสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับรายการสินค้าในคลัง ตั้งแต่รวบรวม จดบันทึกสินค้าเข้า ออก การควบคุมให้มีสินค้าคงเหลือในคลังสินค้าให้มีปริมาณที่เหมาะสม มีระเบียบ ไม่ให้ขาด และไม่ให้มากเกินไป นอกจากนี้ยังคำนึงถึงช่วงเวลา และระยะเวลาในการสั่ง และการนำส่งสินค้า เพื่อให้สินค้าที่มีอยู่ สามารถส่งมอบได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และมีต้นทุนในการจัดเก็บสินค้าที่เหมาะสม ซึ่งต้นทุนดังกล่าวนั้น รวมไปถึงต้นทุนจากค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อ (Ordering Cost) ต้นทุนจากค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา (Carrying Cost) ต้นทุนจากค่าใช้จ่ายเนื่องจากสินค้าขาดแคลน (Shortage Cost หรือ Stock Cost) และต้นทุนจากค่าใช้จ่ายในการตั้งเครื่องจักรใหม่ (Setup Cost)  เป็นต้น ดังนั้นการจัดการสินค้าคงคลังจึงมีเป้าหมายในการสร้างความสมดุลในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ระดับสินค้าคงคลัง และต้นทุนในการจัดเก็บสินค้าอยู่ในระดับที่ประหยัด โดยไม่กระทบต่อระดับการให้บริการ

สรุป
การบริหารจัดการคลังสินค้า และสินค้าคงคลัง จึงถือเป็นอีกกิจกรรมที่สำคัญของกระบวนการโลจิสติกส์ ถึงแม้จะมีกระบวนการทำงานที่ต่างกัน โดยการจัดการคลังสินค้ามุ่งเน้นไปที่กระบวนการจัดการการจัดเก็บสินค้าภายตั้งแต่รับเข้า จัดเก็บและส่งออกจากคลังสินค้า ส่วนการจัดการสินค้าคงคลังมุ่งเน้นไปที่การไหลของสินค้าที่จะจัดเก็บโดยมีปริมาณการจัดเก็บที่เพียงพอเหมาะสม เพื่อประหยัดต้นทุนในการจัดเก็บสินค้าในคลัง แต่ทั้ง 2 คำนี้มีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกัน และครอบคลุมถึงกัน ดังนั้นการบริหารจัดการคลังสินค้า และสินค้าคงคลังที่ดีและสอดประสานกันจะช่วยบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค

References:
Rushton, A.  Croucher, P. และ Baker, P.  คู่มือการจัดการโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า.  แปลโดย วิทยา สุหฤทดำรง และคณะ.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ อี.ไอ.สแควร์, 2551.

https://www.codeexcellent.com/blog/inventory-for-erp/
https://sites.google.com/site/kmlogisticsproject/3
https://www.unleashedsoftware.com/blog/inventory-vs-warehouse-management

บทความนี้เรียบเรียงโดย :
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวี อุตกฤษฏ์
(Asst.Prof. Dr.Nattavee Utakrit)
อาจารย์ประจำ ภาควิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ (สาขาวิชา MIS)
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

Leave a Reply