E-Business และ E-Commerce เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

E-Business และ E-Commerce ได้ถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อการประสานงาน เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูล การไหลของข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ เช่น การลดต้นทุนในการใช้กระดาษ การลดต้นทุนการเดินทาง ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการของธุรกิจให้เป็นที่น่าพึงพอใจอีกด้วย แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า E-Business และ E-Commerce มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และอินเทอร์เน็ตนั้นเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้มีการเรียกชื่อแตกย่อยเป็นกระบวนการต่างๆ ที่แตกต่างกันไป อาทิ E-Business, E-Commerce, E-Collaboration, E-CRM, Supply Chain Management (SCM), Enterprise Resource Planning (ERP), Business Intelligence (BI) และอื่นๆ

โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะ E-Business  และ E-Commerce เพียงเท่านั้น

E-Business หรือธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ คือการใช้กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ในองค์รวม เพื่อโต้ตอบกันระหว่าง ลูกค้าทางธุรกิจ คู่ค้า หุ้นส่วนทางธุรกิจ ผู้ถือหุ้นและ/หรือนักลงทุน ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่เกี่ยวข้อง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาศัยการใช้คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และอาจรวมถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อขยายขอบเขตการดำเนินงานทางธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น

e-Business Portal ของ AIS
e-Toyota Business

E-Commerce หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือใช้กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และอินเทอร์เน็ต มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกันกับ E-Business เพียงแต่ E-Commerce จะมุ่งเน้นไปยังกระบวนอันเกี่ยวเนื่องกับการทำธุรกรรม การซื้อ หรือขายสินค้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ซึ่ง E-Commerce แบ่งได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่

1. ผู้ประกอบการ กับ ผู้บริโภค (Business to Consumer – B2C)
คือการค้าระหว่างผู้ค้าโดยตรงถึงลูกค้าซึ่งก็คือผู้บริโภค ซึ่งเจ้าของธุรกิจขายสินค้าไปยังลูกค้าโดยตรงผ่านทางร้านค้าออนไลน์ เช่น Lazada.co.th, Shopee, หรือเว็บไซต์ที่ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรง เช่น Pizza เป็นต้น

B2C The Pizza Company website
B2C Lazada Thailand

2.ผู้ประกอบการ กับ ผู้ประกอบการ (Business to Business – B2B) 
คือการค้าระหว่างผู้ค้ากับลูกค้าเช่นกัน แต่ในที่นี้ลูกค้าจะเป็นในรูปแบบของผู้ประกอบการ
ในที่นี้จะครอบคลุมถึงเรื่อง การขายส่ง การทำการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบห่วงโซ่การผลิต(Supply Chain Management) เป็นต้น ซึ่งจะมีความซับซ้อนในระดับต่างๆกันไป ตัวอย่างช่องทางประเภท  B2B ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ Alibaba.com

B2B Alibaba.com

3.ผู้บริโภค กับ ผู้บริโภค (Consumer to Consumer – C2C) 
คือการติดต่อระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภคนั้น มีหลายรูปแบบและวัตถุประสงค์ เช่นเพื่อการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ในกลุ่มคนที่มีการบริโภคเหมือนกัน หรืออาจจะทำการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง ขายของมือสองเป็นต้น เช่น eBay หรือ Social networks ในกลุ่มผู้บริโภคด้วยกัน เช่น Facebook, Twitter, IG เป็นต้น

C2C eBay website

4.ผู้ประกอบการ กับ ภาครัฐ (Business to Government – B2G) 
คือการประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ B2G ที่ใช้กันมากก็คือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ หรือที่เรียกว่า E-Government Procurement ในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว รัฐบาลจะทำการซื้อ/จัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย การจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์นั้น เป็นการใช้ช่องทางผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ในการดำเนินธุรกรรม การทำสัญญาข้อตกลง การให้อำนาจ การจัดซื้อจัดจ้าง การอนุญาตในการสั่งซื้อ การรับสินค้า และการชำระเงินสำหรับบริการหรือผลิตภัณฑ์บางอย่างที่จำเป็น ตัวอย่างเช่น ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือ E-Procurement (http://www.gprocurement.go.th/)

B2G ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

5.ภาครัฐ กับ ประชาชน (Government to Consumer – G2C)
G2C ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการค้าเป็นหลัก แต่จะเป็นเรื่องการบริการของภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยเองก็มีให้บริการแล้วหลายหน่วยงาน เช่นการคำนวณและเสียภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต, การให้บริการข้อมูลประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น เช่นข้อมูลการติดต่อการทำทะเบียนต่าง ๆ ของกระทรวงมหาดไทย ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบว่าต้องใช้หลักฐานอะไรบ้างในการทำเรื่องนั้นๆ และสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มบางอย่างจากบนเว็บไซต์ได้ด้วย หรือแม้กระทั้งระบบชำระค่าบริการสาธารณูปโภคต่างๆ

G2C ระบบชำระค่าน้ำประปาของการประปานครหลวงผ่าน Internet Payment

สรุป
E-Business และ E-Commerce เป็นการใช้กลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่ง E-Business จะครอบคลุมกระบวนการธุรกิจมากกว่า กล่าวคือ E-Commerce เป็นส่วนหนึ่งของ E-Business นั่นเอง โดย E-Commerce แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ B2C, B2B, C2C, B2G, และ G2C ซึ่งช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ และยังสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าเป็นสำคัญ

บทความนี้เรียบเรียงโดย :
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวี อุตกฤษฏ์
(Asst.Prof. Dr.Nattavee Utakrit)
อาจารย์ประจำ ภาควิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ (สาขาวิชา MIS)
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ใส่ความเห็น