โลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ความหมาย ความสัมพันธ์ ข้อเท็จจริง
เมื่อพูดถึงคำว่าโลจิสติกส์ ในปัจจุบันคงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่เคยได้ยินคำนี้ คำว่าโลจิสติกส์ได้แทรกเข้ามาสู่ในสังคมของเรามานาน และเป็นที่รู้จักคุ้นหูในสังคมไทยเราเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐิกิจ และการพัฒนาประเทศของไทยเป็นอย่างมาก และอีกทั้งยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) อีกด้วย
ความหมาย
โลจิสติกส์ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องการขนส่ง แต่เป็นแนวคิด กิจกรรม และกระบวนการทำงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การดำเนินการและการควบคุมการทำงานขององค์กรให้เกิดการเคลื่อนย้ายการจัดเก็บ การรวบรวม และการกระจายสินค้า วัตถุดิบ ชิ้นส่วนประกอบ หรืออาจรวมถึงการบริการที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด โดยคำนึงถึงความต้องการและความ พึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ
กระบวนการกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญของโลจิสติกส์นั้นประกอบไปด้วย
– การติดต่อสื่อสารด้านโลจิสติกส์ (Logistics Communications)
– การบริการลูกค้า (Customer Service)
– กระบวนการสั่งซื้อ (Order Processing)
– การคาดการณ์ความต้องการ (Demand Forecasting)
– การจัดซื้อ (Procurement)
– การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management)
– การบริหารคลังสินค้าและการจัดเก็บ (Warehousing และ Storage)
– การบริหารการขนส่ง (Transportation Management)
– การจัดเตรียมอะไหล่และชิ้นส่วนต่างๆ (Pasts และ Services Support)
– การเลือกที่ตั้งโรงงานและคลังสินค้า (Plant และ Warehouse Site Selection)
– การเคลื่อนย้ายวัสดุ (Material Handling)
– การบรรจุภัณฑ์และหีบห่อ (Packaging และ Packing)
– โลจิสติกส์ย้อนกลับ (Reverse Logistics)
เป็นต้น
ความสัมพันธ์
นอกจากคำว่าโลจิสติกส์แล้ว เรายังจะเคยได้ยินคำว่า โซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน (Supply chain)
สำหรับคำว่าโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน (Supply chain) นั้นเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างองค์กร ทรัพยากร และกิจกรรมต่างๆ ที่ร่วมกันก่อให้เกิดคุณค่าในรูปของสินค้าสำเร็จรูป หรือบริการให้ลูกค้า
จากคำกล่าวของ Michael Hugos ที่อธิบายคำว่าโซ่อุปทานไว้ว่า
“…เนื่องจากความเป็นจริงที่ว่า ไม่มีบริษัทใดที่จะสามารถพัฒนาทักษะทางด้านการจัดการโซ่อุปทานให้สูงขึ้นได้ในทุก ๆ ด้าน ดังนั้น บริษัทจึงต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะ นอกจากนี้ยังจะต้องเชื่อมโยงกับบริษัทอื่น ๆ ที่มีทักษะที่เกื้อกูลกันให้สมบูรณ์ได้ อันจะเป็นพลวัตที่กระตุ้นการก่อให้เกิด…ห่วงโซ่อุปทาน”
โลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทาน
สภาการจัดการลอจิสติกส์ (Council of Logistics Management : CLM) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่าโลจิสติกส์กับโซ่อุปทานสำหรับในธุรกิจซึ่งใช้กันโดยทั่วไป ไว้ดังนี้ :
“โลจิสติกส์ คือ ส่วนหนึ่งของกระบวนการโซ่อุปทานซึ่งจะวางแผน ดำเนินการ และควบคุมการไหลไปข้างหน้าและการไหลย้อนกลับและการจัดเก็บสินค้า การบริการ และสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกันระหว่างจุดกำเนิดและจุดบริโภคอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า”
ข้อเท็จจริง
ดังนั้น ข้อเท็จจริงของคำว่าโลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทานนั้น อาจสรุปได้ดังนี้
ความเข้าใจที่ผิดว่าโลจิสติกส์นั้นครอบคลุมถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain)
ข้อเท็จจริงสลับกัน คือ ห่วงโซ่อุปทานนั้นกว้างใหญ่กว่า ด้วยโครงสร้างจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ วัตถุดิบจนถึงมือลูกค้า แต่โลจิสติกส์ เป็นกิจกรรมในห่วงซุ่ปทาน ที่เราบริหารจัดการโลจิสติกส์เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้านั่นเอง
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับโลจิสติกส์และการจัดการห่วงโซ่อุปทานต่อไปได้ที่นี่
website: https://mis.itd.kmutnb.ac.th/
facebook: https://www.facebook.com/Fanpage.MIS.KMUTNB/
เรียบเรียงโดย :
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวี อุตกฤษฏ์
(Asst.Prof.Dr.Nattavee Utakrit)
ภาควิชาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ